วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

เปิดโผ 35 รัฐมนตรี สมชาย1


หลังจากใช้เวลาหลายวันในการพิจารณาจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในที่สุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ก็จัดทำโผคณะรัฐมนตรี (ครม) เสร็จเรียบร้อย และส่งให้เลขาธิการ ครม. ประสานนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว โดยโผ ครม.รัฐบาลสมชาย 1 ที่สำนักเลขาธิการ ครม.ส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนนำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. ใหม่ คาดว่ามีดังต่อไปนี้

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม

2. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ

3. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯเป็นรองนายกรัฐมนตรี

4. นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี

5. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นรองนายกรัฐมนตรี

6. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรี

7. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

8. นายสุพล ฟองงาม รักษาการ รมช.มหาดไทย เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

9. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการ รมช.คลัง เป็น รมว.คลัง

10. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็น รมช.คลัง

11. ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี จากพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็น รมช.คลัง

12. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทย เป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

13. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคพลังประชาชน โควตากลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

14. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์

15. นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม พรรคชาติไทย เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

16. นายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส. อุดรธานี กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

17. นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เป็น รมว.คมนาคม

18. นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส. บุรีรัมย์ กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็น รมช.คมนาคม เสียบแทน นายทรงศักดิ์ ทองศรี

19. นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.สุพรรณบุรี บุตรชายนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็น รมช.คมนาคม เสียบแทนนายอนุรักษ์ จุรีมาศ

20. นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

21. นายมั่น พัธโนทัย แกนนำกลุ่มปากน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็น รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

22. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา คู่เขยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.พลังงาน

23. นายไชยา สะสมทรัพย์ แกนนำกลุ่มภาคกลาง พรรคพลังประชาชน เป็น รมว.พาณิชย์

24. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.สมุทรปราการ เหรัญญิกพรรคพลังประชาชน เป็น รมช.พาณิชย์ 25. พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็น รมช.พาณิชย์

26. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็น รมว.มหาดไทย

27. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา เป็น รมช. มหาดไทย

28. นายประสงค์ โฆษิตานนท์ โควตาพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็น รมช.มหาดไทย

29. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รักษาการ รมว.วัฒนธรรม หัวหน้ากลุ่มขุนค้อน ขยับเป็น รมว.ยุติธรรม 30. นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็น รมว. แรงงาน

31. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ กลุ่มภาคเหนือ พรรคพลังประชาชน เป็น รมว.วัฒนธรรม

32. นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รักษาการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ

33. นายศรีเมือง เจริญศิริ ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชน สายตรงคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็น รมว.ศึกษาธิการ

34. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.มหาดไทย เป็น รมว.สาธารณสุข

35. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมช.สาธารณสุข

36. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็น รมว.อุตสาหกรรม

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

บี้รัฐบาลนำ ทักษิณ กลับมาสู้คดี



วานนี้ (18 ก.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาสู้คดีในไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจะรอให้มี ครม.ชุดใหม่ก่อนและจะพิจารณากระบวนการของการจัดทำนโยบาย ทั้งนี้แม้จะยังเป็นรัฐบาลที่มาจาก 6 พรรคการเมืองเดิม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำรัฐบาลหรือรัฐบาลชุดใหม่ต้องกล้าส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและจับต้องได้ในการปฏิบัติงานบริหารประเทศ เพื่อให้มีความหวังว่าเราจะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤติได้ มิฉะนั้น เศรษฐกิจและการเมืองของเรายังย่ำอยู่กับที่ ซึ่งหมายความว่าวิกฤติทางการเมืองจะดำรงต่อไป รัฐบาลชุดใหม่ควรยอมรับปัญหาที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้างที่ผิดพลาด บกพร่อง ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำว่าเวลาที่มีผลประโยชน์ไม่ตรงกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับเครือญาติ ก็ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมด้วยการกระทำ อยากให้ท่านได้มีโอกาสแสดงชัดๆ ถึงวิสัยทัศน์ว่าความเปลี่ยนแปลงคืออะไร จะเป็นคำตอบว่าเรามีความหวังหรือไม่ ผมว่าคำถามสั้นๆ คำถามเดียว คือ ท่านจะเปลี่ยนแปลงอะไร

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัคร หลุดตำแหน่งนายกฯ มติศาล 9-0 ขาดคุณสมบัติตั้ง"สมชาย"เป็นรักษาการนายกฯ มีอำนาจโยกย้าย ขรก.


ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี "สมัคร สุนทรเวช" จัดรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า มีมติเอกฉันท์ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้านพรรคพลังประชาชน เตรียมผลักดัน "สมัคร" เป็นนายกรัฐมนตรี รอบ 2 วันนี้ (9 กันยายน) เวลา 15.30 น. นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.และคณะรวม 29 คนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ "นายสมัคร สุนทรเวช" นายกรัฐมนตรี ในการรับจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" เป็นนัดสุดท้าย หลังจากได้นัดไต่สวนนายสมัคร และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการบริหารบริษัทเฟซ มีเดีย ผู้ผลิตรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า เป็นนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา


ทั้งนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า การจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ของนายสมัครนั้น มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0 โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ว่า นายสมัคร มีความผิดตาม มาตรา 267 และ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ขณะที่ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า พรรคพลังประชาชนเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม การพ้นจากตำแหน่งครั้งนี้ก็มีเพียงนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่พ้นจากตำแหน่ง แต่รัฐมนตรีคนอื่นยังรักษาการอยู่ "ทั้งนี้พรรคพลังประชาชนจะมีการหารือกัน และคาดว่าจะให้มีการเสนอวาระด่วน เพื่อเลือกนายกฯ ในวันที่10 กันยายน ทันที และเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 หยุมหยิมเกินไปควรที่จะมีการแก้ไข" พ.ต.ท.กานต์ กล่าว

เมื่อเวลา 20.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ภายหลังการประชุมนาน 30 นาที พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้แต่งตั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีสถานภาพเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ถือว่ามีอำนาจ ศักดิ์ และสิทธิเท่าเทียมนายกฯทุกประการตามรัฐธรรมนูญ ทางด้านสำนักเลขาธิการ ครม.ยังแจ้งที่ประชุมว่า ครม.ชุดปัจจุบัน และรัฐมนตรีจะไม่ใช้คำว่า"รักษาการ" นำหน้า ยังบริหารประเทศได้โดยไม่ไปแตะต้องนโยบายที่มีผลผูกพัน หากมีเรื่องสำคัญต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป นอกจากนี้ ยังตั้งทีมโฆษกรัฐบาลทีมเดิมทำงานต่อไป และว่า ในที่ประชุม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและการกีฬา เสนอให้ที่ประชุมยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายสมชายรับปากว่าจะนำไปพิจารณา ส่วนรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งควบอยู่นั้นได้ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมคือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมทำหน้าที่แทน สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้นายสหัส บัณฑิตกุล ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างรอเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ จึงได้มอบหมายให้ทำหน้าที่แทนไปก่อน ข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงการสรรหานายกฯคนใหม่ นายสมชายแจ้งเพียงว่า ขอให้ ครม.รักษาการอย่าทำอะไรผูกพันกับ ครม.ชุดใหม่ อย่างไรก็ดี ภายหลังการประชุม มีรัฐมนตรี 2-3 คน ไปปรึกษากับคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯมีอำนาจยุบสภาหรือไม่ คุณพรทิพย์แจ้งว่า มีอำนาจเหมือนนายกฯทุกอย่าง สามารถใช้งบประมาณ และโยกย้ายข้าราชการได้ ยกเว้นไม่ให้ใช้งบฯโยกย้ายคนในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะอาจทำให้เกิดได้เปรียบเสียเปรียบ

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน



นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กทม. มอบ"ผบ.ทบ."รับผิดชอบ ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไป

เมื่อเวลา 07.30 น. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รายงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลดำเนินการให้เกิดความวุ่นวาย กระทบความเรียบร้อยต่อประชาชนและความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตย จึงต้องแก้ไขปัญหาให้สิ้นสุดโดยเร็ว

พร้อมมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามพ.ร.ก. จนกว่าสถานการณ์จะสงบ

- ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไปหรือกระทำอันยุยงขัดต่อความสงบ

- ห้ามเผยแพร่ข้อความให้ประชาชาเกิดความหวากกลัวจนกระทบความมั่นคงของรัฐ และ ความสงบทั่วราชอาญาจักร

- ห้ามใช้เส้นทางบคมนาคม ยานพานหะ ตามที่กำหนด

- ห้ามใช้อาคาร และ ให้อพยพประชาชนออกจากอาคารหรือให้ไปอยู่อาคารตามที่กำหนด

ภายหลังเกิดเหตุการปะทะกันระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายคน

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ตร.รุนแรงเกินเหตุ ปืนจ่อหัวผู้ชุมนุมบังคับออกนอกทำเนียบ





วันนี้ (29 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.10 น. เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลหลายพันนายได้พังประตูหน้าฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ทันตั้งตัว แม้จะมีการเรียกระดมพล แต่ตำรวจสามารถฝ่าวงล้อมเข้าไปได้ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมคว้าของใกล้มือ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก เก้าอี้ ขว้างใส่ตำรวจ แต่ตำรวจเข้าประชิดตัวและมีการจับตรวจค้นก่อนปล่อยตัว และบังคับให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ตำรวจบางนายได้ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุด้วยการใช้ปืนจี้หัวประชาชนให้ออกไปจากพื้นที่
ซึ่งการบุกเข้าในพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากตำรวจต้องการพื้นที่ครึ่งหนึ่งของทำเนียบรัฐบาล คือตั้งแต่ประตู 5 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงตึกสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี


วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯ ประกาศเป้าหมายและวิธีการชุมนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย


พันธมิตรฯ ออกประกาศ ฉบับที่ 12/2551 กำหนดเป้าหมายและวิธีการชุมนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย้ำใช้สิทธิตาม ม.63 ยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ระบุอาจต้องปิดการจราจรและทำให้สถานที่ราชการบางแห่งไม่สามารถเปิดทำการ เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเข้าทำงานจนสร้างความเสียหายล่มจมต่อประเทศชาติ

ประกาศพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 12/2551

เรื่อง กำหนดเป้าหมายและวิธีการชุมนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ณ บัดนี้ได้มาถึงเวลาเช้าวันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 อันเป็นวันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีพลังของกองทัพประชาชนกู้ชาติ ที่ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญ เกรียงไกร เปี่ยมไปด้วยพลังทางศีลธรรม ที่สมควรได้รับการคารวะอย่างสูงยิ่ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะยังคงธำรงภารกิจศักดิ์สิทธิ์เดิมในการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และโค่นล้มระบอบทักษิณ ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติ ตลอดจนสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติชุดนี้กำลังจะทำให้บ้านเมืองล่มจม เพราะได้ย่ำยีรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ เหิมเกริมถึงขั้นจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อฟอกความผิดให้กับตัวเองและพวกพ้องตลอดจนจะล้มล้างสถาบันองคมนตรี ซ่องสุมอุ้มชูผู้คนเป็นขบวนการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉ้อฉลปล้นชาติล้างผลาญเงินงบประมาณเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง ถึงขั้นจะเตรียมการจะปล้นคลังหลวง สร้างรัฐตำรวจกลั่นแกล้งใส่ร้ายประชาชนอย่างไร้ศีลธรรม สร้างอันธพาลป่าเถื่อนของรัฐบาลทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่งเสริมให้คนชั่วให้มีอำนาจในแผ่นดิน กำจัดคนดีออกจากอำนาจหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ขายชาติขายอธิปไตยทำให้สูญเสียดินแดนบนบกและแหล่งพลังงานธรรมชาติในอ่าวไทย มุ่งร้ายและทำลายองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการ และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบใช้หน่วยงานและเครื่องมือของรัฐแทรกแซงสื่อสารมวลชน ให้ข้อมูลเท็จและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบ้านเมือง ดังนั้น นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป การชุมนุมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีเป้าหมายหลักเพื่อการขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติที่ไร้จริยธรรมให้ออกไปจากการบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด อันเป็นหนทางเดียวในการกอบกู้ประเทศชาติ ที่ใกล้ล่มจมอยู่ในขณะนี้ มิให้ต้องล่มจมลงไปในที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายในการชุมนุมในครั้งนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำหนดวิธีการให้กองทัพประชาชนกู้ชาติปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ให้กองทัพประชาชนกู้ชาติได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่าง สงบ และปราศจากอาวุธ อันเป็นการใช้สิทธิของประชาชนตามมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อย่างเคร่งครัด ในการนี้ให้พี่น้องประชาชนที่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ได้ยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ใช้วาจาหรือการกระทำใดๆที่เป็นการยั่วยุ และไม่ทำลายทรัพย์สินทางราชการ โดยเด็ดขาด

2. ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์มาโดยตลอดแล้วว่า การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีแต่ความสงบ อหิงสา และปราศจากอาวุธ โดยที่ไม่เคยเกิดเหตุวุ่นวายแม้แต่ครั้งเดียว ดั้งนั้นหากมีผู้ใดก็ตามที่เข้าร่วมชุมนุม และก่อความไม่สงบ ยั่วยุ ก่อกวน สร้างเงื่อนไขให้เกิดการทะเลาะวิวาท กระทำการรุนแรง หรือการทำลายทรัพย์สินทางราชการ ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่หวังดีและเป็นอันธพาลของรัฐบาล ที่ต้องการทำลายความชอบธรรมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการตามขั้นตอนของกฎหมายในทันที โดยให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว

3. เมื่อมีประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเพื่อใช้สิทธิตามมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความจำเป็นต้องปิดช่องการจราจรและอาจถึงขั้นไม่สามารถทำให้สถานที่ราชการบางแห่งเปิดทำการได้ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือว่าเป็นการสำแดงพลังของกองทัพประชาชนที่ไม่ต้องการให้ประเทศชาติต้องล่มจม จึงไม่ยินยอมให้โอกาสรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมทั้งในทางนิติธรรม และศีลธรรม บริหารประเทศชาติและเข้าทำงานสถานที่ราชการนั้นอีกต่อไป พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนข้าราชการเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองมิให้ล่มจมอย่างพร้อมเพรียง

4. เพื่อความสำเร็จในเป้าหมายในการชุมนุม หากมีการเคลื่อนกองทัพของประชาชน ขอให้พี่น้องประชาชนฟังและปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศจากเวทีใหญ่มัฆวาน อย่างมีวินัย และเคร่งครัด


ประกาศ ณ เช้าวันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

"ร.ต.อ.เฉลิม" ยันไม่เคยวิ่งเต้นขอร้องนายกฯ ช่วยบุตรชายกลับรับราชการ



อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันไม่เคยขอร้องหรือวิ่งเต้นนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งให้ ร.ต.ดวง กลับเข้ารับราชการ เตรียมพิจารณาฟ้องร้อง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ ที่สั่งพักพักราชการและสั่งปลด ร.ต.ดวง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งได้มีการนำเอกสารของทางราชการมาแจกให้กับสื่อมวลชน โดยยืนยันว่า คดีที่สงสัยว่า ร.ต.ดวง บุตรชายหนีราชการทหารนั้น ได้ยุติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2546 เนื่องจากคณะกรรมการฝ่ายทหารที่สอบสวน และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ร.ต.ดวง ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีแต่งตั้งให้ ร.ต.ดวง กลับเข้ารับราชการโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการนั้น ยืนยันว่า ตนเองไม่เคยไปขอร้อง วิ่งเต้น รวมทั้งไม่เคยคิดที่จะหาความทุกข์ให้กับนายสมัคร และนายสมัครก็ไม่เคยได้รับผลประโยชน์อะไรในเรื่องนี้ ทั้งนี้จะขอปรึกษากับบุตรชาย รวมทั้งจะดูข้อกฎหมายด้วยว่าจะฟ้องร้อง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ ที่สั่งพักพักราชการและสั่งปลด ร.ต.ดวง หรือไม่ เนื่องจากคิดว่า บุตรชายควรได้รับสิทธิ์อันชอบธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เชื่อว่า เรื่องดังกล่าว ไม่น่าจะใช่ฝีมือของคนในพรรคพลังประชาชน และคนที่ออกมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.นั้น เป็นความคิดของคนที่ไม่มีหิริโอตัปปะ พร้อมเชื่อมั่นในเอกสารหลักฐานว่าจะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช.ได้


ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์